หน้าเว็บ

หน้าเว็บ

วันศุกร์ที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561

เมืองสี่มุม

นช่วงปี พ.ศ. 2369 – 2371 เมืองเวียงจันทน์ในขณะมีเจ้าอนุวงศ์ปกครองอยู่ เห็นว่าทางกรุงเทพฯมีศึกติดพันหลายด้าน และเหล่าแม่ทัพนายกองล้วนแต่เป็นคนรุ่นใหม่ไม่เก่งกล้าสามารถเหมือนสมัยก่อน ในช่วงเดือนตุลาคม 2369 จึงประกาศอิสรภาพหรือแข็งเมือง และยกพลเข้าตีกรุงเทพมหานครหวังจะยึดเอาเมืองให้ได้ โดยการชักชวนเกลี้ยกล่อมและรวบรวมหัวเมืองต่างๆให้ร่วมมือกันโจมตีกรุงเทพมหานคร โดยเฉพาะหัวเมืองทางภาคอีสานเจ้าอนุวงศ์ได้ส่งขุนนางและทหารเข้าเกลี้ยกล่อมให้เข้าร่วมโจมตีกรุงเทพมหานครด้วย โดยมี 2 เมืองคือเมืองนครพนมและเมืองสี่มุมเข้าร่วมมือด้วยอย่างแข็งขัน อีก 9 เมืองเข้าร่วมอย่างไม่เต็มใจคือ ขุขันธ์ สระบุรี หล่มสัก ชนบท ยโสธร สุรินทร์ ปักธงชัย ขอนแก่น สกลนคร และอีก 6 เมืองไม่เข้าร่วมคือ เขมราฐ กาฬสินธุ์ ภูเขียว ภูเวียง ชัยภูมิ และหล่มสัก เจ้าเมืองเหล่านี้ที่ไม่เข้าร่วมถูกเจ้าอนุวงศ์สั่งประหารชีวิตทั้งหมด ภายหลังเจ้าเมืองขุขันธุ์ก็ถูกสั่งประหารด้วยเช่นกัน ในเดือนกุมภาพันธ์ปีต่อมาหลังจากประกาศการกู้ชาติได้ 5 เดือนเจ้าอนุวงศ์บุกยึดเมืองโคราช และเคลื่อนกองกำลังต่อไปจนถึงสระบุรี ทางกรุงเทพมหานครจึงทราบข่าวเจ้าอนุวงศ์ก่อการกบฏ
หลังจากที่ทางกรุงเทพฯทราบข่าวเจ้าอนุวงศ์ตั้งตัวเป็นกบฎแล้ว สมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 จึงโปรดเกล้าให้จัดกองทัพออกปราบ เจ้าอนุวงศ์ทราบข่าวว่าทางกรุงเทพฯไหวตัวและยกทัพมาปราบจึงได้ถอยทัพจากสระบุรี กวาดต้อนไพร่พลกลับเวียงจันทน์โดยวางกำลังเอาไว้ตีประทะตลอดแนวทาง ด่านยุทธศาสตร์สำคัญก่อนที่จะถึงเวียงจันทน์คือเมืองนครเขื่อนขันธ์กาบแก้วบัวบาน(หนองบัวลำภู) ส่วนทัพหลวงของกรมพระราชวังบวรก็ตามตีจนมาถึงเมืองภูเวียงเห็นว่าเป็นเมืองที่มีชัยภูมิที่ดี จึงได้หยุดทัพหลวงไว้ที่นี่ และส่งกองกำลังเข้าตีเมืองหนองบัวลำภู
ฝ่ายเจ้าอนุวงศ์ได้แต่งตั้งให้เจ้าเมืองสี่มุมพระยานรินทร์สงครามซึ่งมีความจงรักภักดีต่อเจ้าอนุวงศ์เป็นแม่ทัพอยู่รั้งเมืองนครเขื่อนขันธ์กาบแก้วบัวบาน ส่วนตัวพระองศ์เองได้นำไพร่พลเดินทางกลับไปยังเมืองเวียงจันทน์  สมรภูมิแห่งนี้เป็นสมรภูมิที่ต่อสู้กันดุเดือดที่สุด อันเนื่องมาจากพระยานรินทร์สงครามเป็นแม่ทัพที่เก่งกล้าสามารถ มีวิชาคาถาอาคม และมีความกล้าหาญเด็ดเดี่ยว ต่อสู้จนเหลือทหารเพียง 6 คน และสุดท้ายก็พลาดท่าหล่นลงมาจากหลังม้าจึงถูกทหารไทยจับตัวส่งกรมพระราชวังบวรฯที่ทัพหลวง เมืองภูเวียง กรมพระราชวังบวรฯทราบว่าพระยานรินทร์สงครามเป็นคนมีความสามารถในการสู้รบจึงคิดจะชุบเลี้ยงไว้  แต่พระยานรินทร์สงครามไม่เพียงแต่ไม่สนใจใยดี และยังตอบกลับมาว่า เมื่อเกิดเป็นชายชาติทหาร ถ้าแม้นเสียทีก็จะขอยอมตายไม่ยอมอยู่เป็นคน ขอให้ท่านฆ่าเสียให้เป็นผียังดีเสียดีกว่าอยู่เป็นคนดังนั้นกรมพระราชวังบวรจึงสั่งประหารชีวิต พระยานรินทร์สงคราม แต่ด้วยความที่พระยานรินทร์เป็นคนที่มีคาถาอาคมแก่กล้า ฟัน แทง ไม่เข้า กรมพระราชวังบวรจึงให้เอาตัวไปผูกติดกับต้นไม้และใช้ช้างแทงจนตาย ณ.ที่ต้นยางใหญ่ใกล้กับหนองน้ำ บุ่งกกแสงปัจจุบันอยู่บริเวณทางโค้งห่างจากศาลเจ้าจอมไปประมาณ 100 เมตร ต่อมามีการสร้างศาลขึ้นเพื่อรำลึกถึงความกล้าหาญ และความเป็นจอมคนของพระยานรินทร์สงคราม เรียกศาลเจ้าจอม หรือปู่จอมที่คนภูเวียงและประชาชนทั่วไปให้นับถือสักการบูชา ตั้งอยู่บริเวณช่องเขาทางเข้าไปอำเภอเวียงเก่าบริเวณใกล้เคียงกับที่ซึ่งพระยานรินทร์สงครามถูกประหารชีวิต หลังจากเสร็จสิ้นศึกเจ้าอนุวงศ์แล้วเมืองสี่มุมก็กลับไปขึ้นกับสยามเหมือนเดิม
สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ยังไม่มีการจัดตั้งจังหวัดขึ้นเป็นทางการ บริเวณจังหวัดชัยภูมิประกอบไปด้วยเมืองใหญ่ 3 เมือง คือ เมืองชัยภูมิ, เมืองภูเขียว และเมืองสี่มุม (จัตุรัส) ในปี พ.ศ. 2440 ในสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงเปลี่ยนแปลงระบบการปกครองราชอาณาจักร โดยการจัดตั้งมณฑลเทศาภิบาล ให้อยู่ภายใต้บังคับบัญชาของกระทรวงมหาดไทยหน่วยงานเดียว เมืองในจังหวัดชัยภูมิ จึงเข้าอยู่ในมณฑลนครราชสีมา ต่อมาในสมัยหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองปี พ.ศ. 2475 มีการเปลี่ยนแปลงรูปการปกครองประเทศครั้งใหญ่ จากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชเป็นระบอบประชาธิปไตย โดยพระราชบัญญัติระเบียบราชการบริหารแห่งราชอาณาจักรสยาม พ.ศ. 2476 ได้ยกเลิกเขตการปกครองแบบ “เมือง” ทั่วราชอาณาจักร แล้วตั้งขึ้นเป็น “จังหวัด” แทน เมืองชัยภูมิ, เมืองภูเขียว และเมืองสี่มุม (จัตุรัส) จึงรวมกันกลายเป็นจังหวัดชัยภูมิ โดยใช้บริเวณเมืองชัยภูมิจัดตั้งเป็นอำเภอเมืองชัยภูมิยกฐานะเป็นศูนย์กลางของจังหวัด
“เมืองสี่มุม” เจ้าเมืองคนแรกคือ “พระนรินทร์สงคราม” มีชื่อเดิมว่า “คำ”โดยเมืองสี่มุมมีเจ้าเมืองปกครองสืบต่อกันมาตามลำดับ ดังนี้
1.      พระนรินทร์สงคราม (อาจารย์คำ)
2.      พระยานรินทร์สงคราม (2) หาหลักฐานชื่อเดิมไม่ได้ จึงใส่หมายเลขแทน
3.      พระยานรินทร์สงคราม (3)
4.      พระยานรินทร์สงคราม (4)
5.      หลวงยกบัตรเสา (เสียชีวิตก่อนได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์ตราตั้งเจ้าเมือง)
6.      พระยานรินทร์สงคราม (บุญเฮ้า)
7.      พระยานรินทร์สงคราม (ทองดี)
เมืองสี่มุมก่อนที่จะมาตั้งอยู่ที่อำเภอจัตุรัสปัจจุบันนี้มีการย้ายเมืองหลายครั้ง แต่ถึงจะย้ายไปอยู่ที่ใดก็ยังใช้ชื่อเมืองสี่มุมเหมือนเดิม มีการย้าย ดังนี้ ครั้งที่ 1 ในสมัยพระยานรินทร์สงคราม ย้ายจากที่ตั้งเดิมบ้านสี่มุม (สระสี่เหลี่ยม) มาตั้งบริเวณที่เป็นบ้านหนองบัวใหญ่ ตำบลหนองบัวใหญ่ อำเภอจัตุรัส ในปัจจุบันนี้ ครั้งที่ 2 ในสมัยพระยานรินทร์สงคราม (บุญเฮ้า) ย้ายจากเมืองสี่มุม (หนองบัวใหญ่) มาตั้งที่บ้านกอกจนถึงปัจจุบันที่ตั้งเมืองอยู่ที่บริเวณหมู่ที่ 1 ตำบลบ้านกอก อำเภอจัตุรัส ซึ่งที่ตั้งของอำเภอจัตุรัสนับถึงปัจจุบันก่อตั้งมาแล้ว 249 ปี
        ในสมัยพระยานรินทร์สงคราม (ทองดี) เป็นเจ้าเมือง ในปี พ.ศ. 2440 ในสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงได้เปลี่ยนแปลงระบบการปกครองประเทศใหม่จัดเมืองต่าง ๆ เป็นมณฑล จังหวัด อำเภอ ตำบล และหมู่บ้าน เมืองสี่มุมจึงถูกยุบและจัดตั้งเป็นอำเภอขึ้นมาแทนชื่อ “อำเภอจัตุรัส” ส่วนเจ้าเมืองก็เปลี่ยนเป็นนายอำเภอโดยให้พระยานรินทร์สงคราม (ทองดี) เป็นนายอำเภอ นับเป็นนายอำเภอคนแรกของอำเภอจัตุรัสตั้งแต่นั้นมา อำเภอจัตุรัสในสมัยนั้นมีพื้นที่อาณาเขตกว้างขวางมาก คือ มีพื้นที่ครอบคลุมถึง 6 อำเภอในปัจจุบัน ต่อมาทางราชการได้แบ่งแยกพื้นที่ของอำเภอออกเป็นอำเภอต่าง ๆ ดังนี้
1. อำเภอบำเหน็จณรงค์ แยกพื้นที่และการปกครองออกจากอำเภอจัตุรัส จำนวนเนื้อที่ 1,435.904 ตารางกิโลเมตร เมื่อ พ.ศ. 2486
2.อำเภอเทพสถิต แยกพื้นที่และการปกครองออกจากอำเภอบำเหน็จณรงค์ ซึ่งเป็นพื้นที่เดิมของอำเภอจัตุรัส จำนวนเนื้อที่ 875.604 ตารางกิโลเมตร เมื่อ พ.ศ. 2519
3.อำเภอหนองบัวระเหว แยกพื้นที่และการปกครองออกจากอำเภอจัตุรัส จำนวน 2 ตำบล (ตำบลหนองบัวระเหวและตำบลวังตะเฆ่) เนื้อที่ 841.782 ตารางกิโลเมตร เมื่อวันที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2521
4.อำเภอเนินสง่า แยกพื้นที่และการปกครองออกจากอำเภอจัตุรัส จำนวน 4 ตำบล (ตำบลหนองฉิม ตำบลกะฮาด ตำบลตาเนิน และตำบลรังงาม) เนื้อที่ 222.03 ตารางกิโลเมตร เมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2535
5.อำเภอซับใหญ่ แยกพื้นที่และการปกครองออกจากอำเภอจัตุรัส จำนวน 3 ตำบล (ตำบลซับใหญ่ ตำบลท่ากูบ และตำบลตะโกทอง) เนื้อที่ 255 ตารางกิโลเมตร เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2540
6.อำเภอจัตุรัส ปัจจุบันเหลือจำนวนเนื้อที่ 690 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 431,250 ไร่ แบ่งการปกครองออกเป็น 9 ตำบล 119 หมู่บ้าน


อ้างอิง
https://www.silpa-mag.com
https://th.wikipedia.org/wiki/อำเภอจัตุรัส
https://sites.google.com/site/wittayasportman/prawati-khoch-chi-ko

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น