หน้าเว็บ

หน้าเว็บ

วันศุกร์ที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561

เมืองสี่มุม

นช่วงปี พ.ศ. 2369 – 2371 เมืองเวียงจันทน์ในขณะมีเจ้าอนุวงศ์ปกครองอยู่ เห็นว่าทางกรุงเทพฯมีศึกติดพันหลายด้าน และเหล่าแม่ทัพนายกองล้วนแต่เป็นคนรุ่นใหม่ไม่เก่งกล้าสามารถเหมือนสมัยก่อน ในช่วงเดือนตุลาคม 2369 จึงประกาศอิสรภาพหรือแข็งเมือง และยกพลเข้าตีกรุงเทพมหานครหวังจะยึดเอาเมืองให้ได้ โดยการชักชวนเกลี้ยกล่อมและรวบรวมหัวเมืองต่างๆให้ร่วมมือกันโจมตีกรุงเทพมหานคร โดยเฉพาะหัวเมืองทางภาคอีสานเจ้าอนุวงศ์ได้ส่งขุนนางและทหารเข้าเกลี้ยกล่อมให้เข้าร่วมโจมตีกรุงเทพมหานครด้วย โดยมี 2 เมืองคือเมืองนครพนมและเมืองสี่มุมเข้าร่วมมือด้วยอย่างแข็งขัน อีก 9 เมืองเข้าร่วมอย่างไม่เต็มใจคือ ขุขันธ์ สระบุรี หล่มสัก ชนบท ยโสธร สุรินทร์ ปักธงชัย ขอนแก่น สกลนคร และอีก 6 เมืองไม่เข้าร่วมคือ เขมราฐ กาฬสินธุ์ ภูเขียว ภูเวียง ชัยภูมิ และหล่มสัก เจ้าเมืองเหล่านี้ที่ไม่เข้าร่วมถูกเจ้าอนุวงศ์สั่งประหารชีวิตทั้งหมด ภายหลังเจ้าเมืองขุขันธุ์ก็ถูกสั่งประหารด้วยเช่นกัน ในเดือนกุมภาพันธ์ปีต่อมาหลังจากประกาศการกู้ชาติได้ 5 เดือนเจ้าอนุวงศ์บุกยึดเมืองโคราช และเคลื่อนกองกำลังต่อไปจนถึงสระบุรี ทางกรุงเทพมหานครจึงทราบข่าวเจ้าอนุวงศ์ก่อการกบฏ
หลังจากที่ทางกรุงเทพฯทราบข่าวเจ้าอนุวงศ์ตั้งตัวเป็นกบฎแล้ว สมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 จึงโปรดเกล้าให้จัดกองทัพออกปราบ เจ้าอนุวงศ์ทราบข่าวว่าทางกรุงเทพฯไหวตัวและยกทัพมาปราบจึงได้ถอยทัพจากสระบุรี กวาดต้อนไพร่พลกลับเวียงจันทน์โดยวางกำลังเอาไว้ตีประทะตลอดแนวทาง ด่านยุทธศาสตร์สำคัญก่อนที่จะถึงเวียงจันทน์คือเมืองนครเขื่อนขันธ์กาบแก้วบัวบาน(หนองบัวลำภู) ส่วนทัพหลวงของกรมพระราชวังบวรก็ตามตีจนมาถึงเมืองภูเวียงเห็นว่าเป็นเมืองที่มีชัยภูมิที่ดี จึงได้หยุดทัพหลวงไว้ที่นี่ และส่งกองกำลังเข้าตีเมืองหนองบัวลำภู
ฝ่ายเจ้าอนุวงศ์ได้แต่งตั้งให้เจ้าเมืองสี่มุมพระยานรินทร์สงครามซึ่งมีความจงรักภักดีต่อเจ้าอนุวงศ์เป็นแม่ทัพอยู่รั้งเมืองนครเขื่อนขันธ์กาบแก้วบัวบาน ส่วนตัวพระองศ์เองได้นำไพร่พลเดินทางกลับไปยังเมืองเวียงจันทน์  สมรภูมิแห่งนี้เป็นสมรภูมิที่ต่อสู้กันดุเดือดที่สุด อันเนื่องมาจากพระยานรินทร์สงครามเป็นแม่ทัพที่เก่งกล้าสามารถ มีวิชาคาถาอาคม และมีความกล้าหาญเด็ดเดี่ยว ต่อสู้จนเหลือทหารเพียง 6 คน และสุดท้ายก็พลาดท่าหล่นลงมาจากหลังม้าจึงถูกทหารไทยจับตัวส่งกรมพระราชวังบวรฯที่ทัพหลวง เมืองภูเวียง กรมพระราชวังบวรฯทราบว่าพระยานรินทร์สงครามเป็นคนมีความสามารถในการสู้รบจึงคิดจะชุบเลี้ยงไว้  แต่พระยานรินทร์สงครามไม่เพียงแต่ไม่สนใจใยดี และยังตอบกลับมาว่า เมื่อเกิดเป็นชายชาติทหาร ถ้าแม้นเสียทีก็จะขอยอมตายไม่ยอมอยู่เป็นคน ขอให้ท่านฆ่าเสียให้เป็นผียังดีเสียดีกว่าอยู่เป็นคนดังนั้นกรมพระราชวังบวรจึงสั่งประหารชีวิต พระยานรินทร์สงคราม แต่ด้วยความที่พระยานรินทร์เป็นคนที่มีคาถาอาคมแก่กล้า ฟัน แทง ไม่เข้า กรมพระราชวังบวรจึงให้เอาตัวไปผูกติดกับต้นไม้และใช้ช้างแทงจนตาย ณ.ที่ต้นยางใหญ่ใกล้กับหนองน้ำ บุ่งกกแสงปัจจุบันอยู่บริเวณทางโค้งห่างจากศาลเจ้าจอมไปประมาณ 100 เมตร ต่อมามีการสร้างศาลขึ้นเพื่อรำลึกถึงความกล้าหาญ และความเป็นจอมคนของพระยานรินทร์สงคราม เรียกศาลเจ้าจอม หรือปู่จอมที่คนภูเวียงและประชาชนทั่วไปให้นับถือสักการบูชา ตั้งอยู่บริเวณช่องเขาทางเข้าไปอำเภอเวียงเก่าบริเวณใกล้เคียงกับที่ซึ่งพระยานรินทร์สงครามถูกประหารชีวิต หลังจากเสร็จสิ้นศึกเจ้าอนุวงศ์แล้วเมืองสี่มุมก็กลับไปขึ้นกับสยามเหมือนเดิม
สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ยังไม่มีการจัดตั้งจังหวัดขึ้นเป็นทางการ บริเวณจังหวัดชัยภูมิประกอบไปด้วยเมืองใหญ่ 3 เมือง คือ เมืองชัยภูมิ, เมืองภูเขียว และเมืองสี่มุม (จัตุรัส) ในปี พ.ศ. 2440 ในสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงเปลี่ยนแปลงระบบการปกครองราชอาณาจักร โดยการจัดตั้งมณฑลเทศาภิบาล ให้อยู่ภายใต้บังคับบัญชาของกระทรวงมหาดไทยหน่วยงานเดียว เมืองในจังหวัดชัยภูมิ จึงเข้าอยู่ในมณฑลนครราชสีมา ต่อมาในสมัยหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองปี พ.ศ. 2475 มีการเปลี่ยนแปลงรูปการปกครองประเทศครั้งใหญ่ จากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชเป็นระบอบประชาธิปไตย โดยพระราชบัญญัติระเบียบราชการบริหารแห่งราชอาณาจักรสยาม พ.ศ. 2476 ได้ยกเลิกเขตการปกครองแบบ “เมือง” ทั่วราชอาณาจักร แล้วตั้งขึ้นเป็น “จังหวัด” แทน เมืองชัยภูมิ, เมืองภูเขียว และเมืองสี่มุม (จัตุรัส) จึงรวมกันกลายเป็นจังหวัดชัยภูมิ โดยใช้บริเวณเมืองชัยภูมิจัดตั้งเป็นอำเภอเมืองชัยภูมิยกฐานะเป็นศูนย์กลางของจังหวัด
“เมืองสี่มุม” เจ้าเมืองคนแรกคือ “พระนรินทร์สงคราม” มีชื่อเดิมว่า “คำ”โดยเมืองสี่มุมมีเจ้าเมืองปกครองสืบต่อกันมาตามลำดับ ดังนี้
1.      พระนรินทร์สงคราม (อาจารย์คำ)
2.      พระยานรินทร์สงคราม (2) หาหลักฐานชื่อเดิมไม่ได้ จึงใส่หมายเลขแทน
3.      พระยานรินทร์สงคราม (3)
4.      พระยานรินทร์สงคราม (4)
5.      หลวงยกบัตรเสา (เสียชีวิตก่อนได้รับพระราชทานบรรดาศักดิ์ตราตั้งเจ้าเมือง)
6.      พระยานรินทร์สงคราม (บุญเฮ้า)
7.      พระยานรินทร์สงคราม (ทองดี)
เมืองสี่มุมก่อนที่จะมาตั้งอยู่ที่อำเภอจัตุรัสปัจจุบันนี้มีการย้ายเมืองหลายครั้ง แต่ถึงจะย้ายไปอยู่ที่ใดก็ยังใช้ชื่อเมืองสี่มุมเหมือนเดิม มีการย้าย ดังนี้ ครั้งที่ 1 ในสมัยพระยานรินทร์สงคราม ย้ายจากที่ตั้งเดิมบ้านสี่มุม (สระสี่เหลี่ยม) มาตั้งบริเวณที่เป็นบ้านหนองบัวใหญ่ ตำบลหนองบัวใหญ่ อำเภอจัตุรัส ในปัจจุบันนี้ ครั้งที่ 2 ในสมัยพระยานรินทร์สงคราม (บุญเฮ้า) ย้ายจากเมืองสี่มุม (หนองบัวใหญ่) มาตั้งที่บ้านกอกจนถึงปัจจุบันที่ตั้งเมืองอยู่ที่บริเวณหมู่ที่ 1 ตำบลบ้านกอก อำเภอจัตุรัส ซึ่งที่ตั้งของอำเภอจัตุรัสนับถึงปัจจุบันก่อตั้งมาแล้ว 249 ปี
        ในสมัยพระยานรินทร์สงคราม (ทองดี) เป็นเจ้าเมือง ในปี พ.ศ. 2440 ในสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงได้เปลี่ยนแปลงระบบการปกครองประเทศใหม่จัดเมืองต่าง ๆ เป็นมณฑล จังหวัด อำเภอ ตำบล และหมู่บ้าน เมืองสี่มุมจึงถูกยุบและจัดตั้งเป็นอำเภอขึ้นมาแทนชื่อ “อำเภอจัตุรัส” ส่วนเจ้าเมืองก็เปลี่ยนเป็นนายอำเภอโดยให้พระยานรินทร์สงคราม (ทองดี) เป็นนายอำเภอ นับเป็นนายอำเภอคนแรกของอำเภอจัตุรัสตั้งแต่นั้นมา อำเภอจัตุรัสในสมัยนั้นมีพื้นที่อาณาเขตกว้างขวางมาก คือ มีพื้นที่ครอบคลุมถึง 6 อำเภอในปัจจุบัน ต่อมาทางราชการได้แบ่งแยกพื้นที่ของอำเภอออกเป็นอำเภอต่าง ๆ ดังนี้
1. อำเภอบำเหน็จณรงค์ แยกพื้นที่และการปกครองออกจากอำเภอจัตุรัส จำนวนเนื้อที่ 1,435.904 ตารางกิโลเมตร เมื่อ พ.ศ. 2486
2.อำเภอเทพสถิต แยกพื้นที่และการปกครองออกจากอำเภอบำเหน็จณรงค์ ซึ่งเป็นพื้นที่เดิมของอำเภอจัตุรัส จำนวนเนื้อที่ 875.604 ตารางกิโลเมตร เมื่อ พ.ศ. 2519
3.อำเภอหนองบัวระเหว แยกพื้นที่และการปกครองออกจากอำเภอจัตุรัส จำนวน 2 ตำบล (ตำบลหนองบัวระเหวและตำบลวังตะเฆ่) เนื้อที่ 841.782 ตารางกิโลเมตร เมื่อวันที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2521
4.อำเภอเนินสง่า แยกพื้นที่และการปกครองออกจากอำเภอจัตุรัส จำนวน 4 ตำบล (ตำบลหนองฉิม ตำบลกะฮาด ตำบลตาเนิน และตำบลรังงาม) เนื้อที่ 222.03 ตารางกิโลเมตร เมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2535
5.อำเภอซับใหญ่ แยกพื้นที่และการปกครองออกจากอำเภอจัตุรัส จำนวน 3 ตำบล (ตำบลซับใหญ่ ตำบลท่ากูบ และตำบลตะโกทอง) เนื้อที่ 255 ตารางกิโลเมตร เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2540
6.อำเภอจัตุรัส ปัจจุบันเหลือจำนวนเนื้อที่ 690 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 431,250 ไร่ แบ่งการปกครองออกเป็น 9 ตำบล 119 หมู่บ้าน


อ้างอิง
https://www.silpa-mag.com
https://th.wikipedia.org/wiki/อำเภอจัตุรัส
https://sites.google.com/site/wittayasportman/prawati-khoch-chi-ko

วันเสาร์ที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561

ใบเสมาทวารวดีอีสาน



               ภาคตะวันออกเฉียงเหนือหรือภาคอีสานของประเทศไทย มีประวัติศาสตร์และศิลปะวัฒนธรรมที่โดดเด่นและมีความน่าสนใจหลายอย่าง โดยเฉพาะ ใบเสมาหรือหินตั้ง ที่เป็นอัตลักษณ์ด้านศิลปกรรมสมัยทวารวดี ช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๒-๑๖ ซึ่งพบกระจายอยู่ทั่วไปในภาคอีสานตามเมืองโบราณต่างๆที่ใกล้กับลำน้ำสำคัญของภูมิภาค เช่น ลำน้ำชี ลำน้ำมูล และลำน้ำโขง แต่คนทั่วไปที่ไม่ใช่นักวิชาการหรือผู้ที่สนใจศึกษาน้อยนักที่จะรู้จักหรือเข้าใจว่าใบเสมาหรือหินตั้งนั้นเป็นศิลปกรรมที่สำคัญอีกอย่างของภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่สำคัญไม่น้อยไปกว่าโบราณสถานและชุมชนโบราณที่รับอิทธิพลจากเขมรอย่างเช่น ปราสาทหิน เทวรูปเคารพต่างๆ ใบเสมาหรือหินตั้งเป็นศิลปกรรมที่บ่งบอกถึงประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมความเชื่อที่มีเฉพาะของกลุ่มทวารวดีในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและรวมไปถึงความสัมพันธ์ระหว่างกลุ่มทวารวดีในภาคกลางโดยมีพุทธศาสนาเป็นสื่อกลางนอกจากนี้ยังแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์กับศิลปะและวัฒนธรรมของอาณาจักรใกล้เคียงที่ร่วมสมัยกันอย่างวัฒนธรรมเขมรในยุคก่อนเมืองพระนครอีกด้วย
                    มื่อกล่าวถึงอารยธรรมทวารวดีในภาคตะวันออกเฉียงเหนือคนทั่วไปอาจนึกไม่ออกว่าบริเวณใดหรือหลักฐานทางโบราณคดีใดบ้างในภูมิภาคนี้ที่แสดงถึงความมีอยู่ของยุคสมัยดังนั้นผู้เขียนจะกล่าวถึงเมืองโบราณที่พบร่องรอยของอารยธรรมทวารวดี โดยจะแบ่งเป็น ๔ กลุ่ม ดังนี้


           ๑. บริเวณในลุ่มน้ำชี ซึ่งบริเวณลุ่มน้ำพบร่องรอยเมืองในยุคสมัยทวารวดีเป็นจำนวนมากและมีความหนาแน่นที่สุดกว่าพื้นที่ลุ่มน้ำอื่น โดยพบเมืองที่มีขนาดเล็กและใหญ่อยู่หลายเมืองได้แก่ เมืองฟ้าแดดสงยาง อำเภอกมลาไสย จังหวัดกาฬสินธุ์ เมืองกันทรวิชัย อำเภอกันทรวิชัย จังหวัดมหาสารคาม เมืองนครจำปาศรี อำเภอนาดูน จังหวัดมหาสารคาม เมืองเซียงเหียน อำเภอเมือง จังหวัดมหาสารคาม  ใบเสมาบ้านกุดโง้ง อำเภอเมือง จังหวัดชัยภูมิ และเมืองคอนสวรรค์ อำเภอคอนสวรรค์ จังหวัดชัยภูมิ
ภาพถ่ายทางดาวเทียม เมืองเซียงเหียน
ที่มา : www.google.co.th/maps

ภาพถ่ายทางเดียวทียม เมืองคอนสวรรค์หรือนครกาหลง
ที่มา : www.google .co.th/maps

ภาพถ่ายทางดาวเทียม เมืองฟ้าแดดสงยาง
ที่มา : www.google.co.th/maps

                  เมืองฟ้าแดดสงยางมีพื้นที่ขนาดใหญ่รูปทรงของเมืองคล้ายกับรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้ากว้าง ๑,๐๐๐ เมตร ยาว๑,๘๐๐ เมตร และยังพบวัตุโบราณกระจัดกระจายจำนวนมาก พบว่ามีชุมชนอาศัยอยู่ตั้งสมัยกึ่งก่อนประวัติศาสตร์มาจนถึงสมัยทวารวดี ซึ่งในสมัยทวารวดีนี้พบหลักฐานจำนวนมาก โดยเฉพาะใบเสมาที่พบมากกว่าร้อยใบ มีการแกะสลักลวดลายพุทธประวัติ ชาดก หรือบางแผ่นสลักเป็นรูปแท่งสันนูนอยู่กึ่งกลาง
ใบเสมาพุทธประวัติ ตอน พิมพาพิลาป ขุดค้นที่เมืองฟ้าแดดสงยาง อำเภอกมลาไสย จังหวัดกาฬสินธุ์ ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ขอนแก่น
ใบเสมาจากเมืองฟ้าแดดสงยาง จัดแสดง ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ขอนแก่น
                    ๒. บริเวณลุ่มน้ำมูลตอนบน เมืองโบราณบริเวณนี้จะพบการอยู่ร่วมกันของสองวัฒนธรรมคือวัฒนธรรมทวารวดีและเขมร แต่วัฒนธรรมเขมรก็ไม่ได้กลืนหายวัฒนธรรมทวารวดี แต่เป็นการผสมผสานกันของสองวัฒนธรรม เมืองต่างๆที่พบจะอยู่ในจังหวัดนครราชสีมาและจังหวัดบุรีรัมย์ได้แก่ เมืองเสมา อำเภอสูงเนิน จังหวัดนครราชสีมา และเมืองฝ้าย อำเภอหนองหงส์ จังหวัดบุรีรัมย์
ภาพถ่ายทางดาวเทียม เมืองฝ้าย ที่มา : www.google.co.th/maps

ภาพถ่ายทางดาวเทียม เมืองเสมา ที่มา : www.google.co.th/maps
                    ๓. บริเวณลุ่มน้ำมูลตอนปลายคาบเกี่ยวกับลุ่มน้ำชีตอนปลาย พบเมืองโบราณที่กระจายตามจังหวัดยโสธร อำนาจเจริญ และตอนบนของอุบลราชธานี ตัวอย่างเช่น เมืองดงเมืองเตย อำเภอคำเขื่อนแก้ว จังหวัดยโสธร เมืองโบราณบ้านตาดทอง อำเภอเมือง จังหวัดยโสธร
                    ภายในเมืองดงเมืองเตยพบใบเสมาสมัยทวารวดี และยังพบหลักฐานวัฒนธรรมเขมรด้วยอาทิเช่น ปราสาทก่ออิฐตามแบบวัฒนธรรมเขมรสมัยก่อนเมืองพระนคร และที่เมืองโบราณบ้านตาดทอง เป็นเมืองที่มีรูปทรงของเมืองเป็นวงรี ขนาดความกว้าง ๕๐๐ เมตร ยาว ๗๕๐ เมตร ที่เมืองโบราณบ้านตาดทองพบใบเสมาสมัยทวารวดีจำนวนมากและยังพบหลักฐานวัฒนธรรมเขมรอยู่ร่วมอีกด้วย

ภาพถ่ายทางดาวเทียม เมืองดงเมืองเตย ที่มา : www.google.co.th/maps
               ๔. บริเวณลุ่มน้ำโขง หากการพบใบเสมานั้นเป็นความเกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมทวารวดี แสดงว่าวัฒนธรรมนี้ได้แพร่กระจายไปทุกๆจังหวัด ตัวอย่างเมืองวัฒนธรรมทวารวดีในอีสานตอนบน คือ ภูพระบาทและโดยรอบของอำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี บริเวณภูพระบาทพบร่องรอยกิจกรรมของมนุษย์หลายสมัย ตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ ทวารวดร เขมร และล้านช้าง โขดหินและเพิงหินพบภาพเขียนสีก่อนประวัติศาสตร์จนเมื่อถึงสมัยทวารวดี โขดหินได้รับการตกแต่งให้เป็นศาสนสถาน หลายแห่งมีใบเสมาล้อมรอบ และภูพระบาทนี้มีลักษณะพิเศษของการปักใบเสมาตรงที่เป็นการปักล้อมโขดหินลักษณะประหลาด ซึ่งยังเคยพบเห็นการปักในลักษณะเช่นนี้ในเมืองโบราณหรือพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์อื่น
ที่มา : www.kapok.com
ที่มา : www.loupiot.com


           ใบเสมาหรือหินตั้งนั้นถือว่าเป็นเอกลักษณ์ของวัฒนธรรมทวารวดีของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีรูปทรงคล้ายใบเสมากับใบเสมาที่ปักล้อมอุโบสถในสมัยสุโขทัยและอยุธยา มีลักษณะยอดแหลมคล้ายดอกบัว มีแกนสันนูนสลักตรงกลางบางหลักมีการสลักรูปพุทธประวัติหรือชาดก ซึ่งมีความสูงตั้งแต่ ๑ จนถึง ๒ เมตร นักวิชาการที่ศึกษาเรื่องใบเสมาอย่าง รองศาสตราจารย์ ศรีศักร วัลลิโภดม เป็นผู้ที่ศึกษาเรื่องใบเสมาหรือหินตั้งไว้จำนวนมากได้เสนอถึงหน้าที่ของใบเสมาในทวารวดีอีสานไว้ ๓ ประการ ได้แก่
           ๑. แสดงเขตศักดิ์สิทธิ์ทางศาสนา ทั้งล้อมรบอุโบสถ สถูป เจดีย์ หรือเนินดิน
           ๒. สร้างขึ้นเพื่อกุศลผลบุญซึ่งอาจเกี่ยวข้องกับการสะเดาะห์เคราะห์ของผุ้สร้าง และการอุทิศส่วนบุญกุศลถึงผู้ล่วงลับ
           ๓. ใบเสมาขนาดใหญ่าจเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในตัวเอง ทำหน้าที่เช่นเดียวกับสถูป เจดีย์ ปูชนียวัตถุอื่นๆในศาสนา
               สำหรับรูปแบบการปักใบเสมานั้นมีหลายแบบ การปักนั้นไม่ได้เป็นการปักแบบล้อมรอบเขตสังฆกรรมของสงฆ์แบบใบเสมาในพุทธศาสนาเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีการปักที่ไม่มีแบบแผนกระจัดกระจายไม่เป็นทิศทางหรือบางอันปักอยู่บริเวณเนินดินที่เกี่ยวข้อกับพิธีกรรมความตายเนื่องจากพบกระดูกบรรจุภาชนะดินเผาอยู่ใต้ดิน ทำให้กล่าวได้ว่าหน้าที่อีกประการของใบเสมาที่พบบริเวณที่เกี่ยวกับพิธีกรรมศพ อาจเป็นเครื่องหมายในการกำหนดเขตที่เกี่ยวกับพิธีศพอันเป็นแบบแผนที่ชนพื้นเมืองในอุษาคเนย์ปฏิบัติกันมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
ใบเสมากับการแสดงเขตศักดิ์สิทธิ์
เขตศักดิ์สิทธิ์อาจแบ่งได้เป็น ๒ ประเภทหลัก คือ เขตศักดิ์สิทธิ์ที่เกี่ยวข้องกับพุทธศาสนาโดยตรง ได้แก่พระสถูปเจดีย์ อาคารประดิษฐานพระพุทธรูป อุโบสถ และเขตศักดิ์สิทธิ์ที่เป็นพื้นที่เกี่ยวกับประเพณีปลงศพ
            เขตศักดิ์สิทธิ์ที่เกี่ยวข้องกับพุทธศาสนาโดยตรง ใบเสมาที่สร้างขึ้นเพื่อแสดงเขตศักดิ์สิทธิ์ในพุทธศาสนาพิจารพิจารณาได้จากวิธีการปัก มักจะนิยมปักล้อมรอบอาคารหรือปูชนียวัตถุสถานในพุทธศาสนา หากปักล้อมรอบพื้นที่ว่างเปล่าแต่ใบเสมาเหล่านั้นมักอยู่ในตำแหน่งที่เป็นระเบียบแบบแผน หรือมีภาพเล่าเรื่องในพุทธศาสนาประดับอยู่
ตัวอย่างจารึกที่บ่งถึงประเพณีการกำหนดเขตหรือกำหนดสีมามีดังนี้
              แท่งหินจากวัดศรีธาตุประมัญฌา อำเภอศรีธาตุ จังหวัดอุดรธานี มีลักษณะเป็นเลือกเป็นแท่งหินทรงกระบอกขนาดใหญ่ มีความว่า “...สถาปนาศิลานี้เป็นสีมา...
              จารึกบ้านกู่จาน พบจากบ้านกู่จาน ตำบลกู่จาน อำเภอคำเขื่อนแก้ว จังหวัดยโสธร มีข้อความตอนหนึ่งว่า “...ประดิษฐานพระพุทธรูปไว้ในสีมาที่กำหนดแล้ว...

จารึกบ้านกู่จาน ที่มา : isan.tiewrussia.com/travel/จารึกกู่จาน/
                 เมื่อพิจารณาจากรูปทรงของจารึกหลักนี้คงเป็นหนึ่งในใบเสมาที่ทำขึ้นเพื่อเป็นที่ทำสังฆกรรมของสงฆ์ในครั้งนี้ด้วย แต่ในหลายแหล่งไม่ได้ค้นพบร่องรอยอาคารใดๆ ในพื้นที่ที่มีใบเสมาล้อมรอบเลย เข้าใจว่าครั้งหนึ่งคงเป็นอุโบสถเครื่องไม้ซึ่งสูญสลายไปตามกาลเวลา เช่น กลุ่มใบเสมาบริเวณบวชพระปู่ ใกล้พระตำแหน่งของใบเสมาปักอยู่ในผังสี่เหลี่ยมผืนผ้า ล้อมรอบทิศทั้งแปดของพื้นที่สี่เหลี่ยมที่ปัจจุบันไม่ปรากฏสิ่งใด แต่ละทิศมีใบเสมาซ้อนชั้นกัน ๓ ใบ รวม ๘ ทิศ มีใบเสมาทั้งสิ้น ๒๔ ใบ ใบเสมาชั้นในกับชั้นกลางค่อนข้างประชิดติดกัน ส่วนใบเสมาชั้นนอกจะอยู่ไกลออกมา การปักเช่นนี้คล้ายคลึงกันกับกลุ่มใบที่เมืองโบราณชัยวาน บ้านโพธิ์ไชย อำเภอโพธิ์ชัย จังหวัดขอนแก่น
           การปักเสมาซ้อนกัน ๓ ใบที่พบจากบริเวณบวชพระปู่ใกล้พระพุทธบาทบัวบานและเมืองชัยวาน อาจเป็นเครื่องหมายบ่งบอกพื้นที่ของขัณฑสีมา สีมันตริก และมหาสีมา ดังข้อความในสมันตปาสาทิกาซึ่งเป็นคัมภีร์ชั้นอรรถกถา คัมภีร์นี้บรรยายให้เห็นขนาดเล็กที่ซ้อนอยู่ในมหาสีมา ระหว่างสีมาทั้งสองมีพื้นที่สีมันตริกทับกัน นิมิตหรือเครื่องหมายที่ใช้สำหรับกำหนดขัณฑสีมา สีมันตริกและมหาสีมา จะเรียงตัวเป็น ๓ ชั้น มหาสีมาอยู่นอกสุดอาจมีขนาดใหญ่ได้ถึง ๓ โยชน์ ขัณฑสีมาอยู่ในสุดอย่างน้อยต้องมีขนาดเพียงพอให้พระสงฆ์ ๒๑ รูปนั่งหัตถบาสได้ ส่วนสีมันตริกคือพื้นที่ตรงกลางความกว้างอย่างน้อยที่สุดที่อนุญาตให้ทำได้คือ ๔ นิ้ว หรือจะทำ ๑ คืบ หรือ ๑ ศอก น่าจะเป็นที่มาที่ทำให้ใบเสมาชั้นในกับชั้นกลางประชิดติดกัน
ที่มา : http://isan.tiewrussia.com/wat_prathatbuaban/
              สำหรับใบเสมาบางกลุ่มอาจทำหน้าที่ปักล้อมรอบปูชนียวัตถุเพื่อเป็นสัญลักษณ์ถึงเขตศักดิ์สิทธิ์ทางความเชื่อก็ได้ เช่น พระธาตุยาคู เมืองฟ้าแดดสงยาง อำเภอกมลาไสย จังหวัดกาฬสินธุ์ อย่างไรก็ตาม ไม่อาจทราบได้ว่าใบเสมาเหล่านี้ปักมาแต่ครั้งทวารวดีหรือเพิ่งนำมาปักในช่วงที่มีการปฏิสังขรณ์พระธาตุยาคูในสมัยหลัง
               ขตศักดิ์สิทธิ์ในพิธีปลงศพ ชุมชนโบราณมักมีพื้นที่ ใช้สำหรับพิธีปลงศพ โดยทั้งไปแล้วก็คือเนินดินภายในเมืองหรือนอกเมือง เช่น เมืองฟ้าแดดสงยางใช้บริเวณที่เรียกกันในปัจจุบันว่าโนนเมืองเก่าเป็นสถานที่สำหรับปลงศพ เพราะพบโครงกระดูกมนุษย์แบบฝังเหยียดยาว หรือภาชนะบรรจุกระดูกมนุษย์ฝังอยู่ เนินดินที่เกี่ยวข้องกับพิธีปลงศพหลายแห่งมีใบเสมาปักอยู่ เช่น เนินดินที่บ้านตาดทอง อำเภอเมือง จังหวัดยโสธร ผลจากการขุดค้นทางโบราณคดีแสดงให้เห็นว่าเนินดินนี้เป็นสถานที่ที่เกี่ยวข้องกับพิธีกรรมมาแต่เดิม โดยในสมัยแรกพบหลักฐานการฝังศพในท่านอนเหยียดแบบวัฒนธรรมสมัยก่อนประวัติศาสตร์ ต่อมาในสมัยประวัติศาสตร์จึงเปลี่ยนประเพณีปลงศพมาเป็นการนำกระดูกที่ผ่านการเผาไฟไปบรรจุไว้ในหม้อแล้วจึงนำไปฝัง เนินดินกลางเมืองโบราณคอนสวรรค์ จังหวัดชัยภูมิ เป็นเนินดินที่พบกระดูกมนุษย์และเศษภาชนะจำนวนมาก ก็ได้พบใบเสมาปักกระจายไปทั่วเนินดิน นอกเหนือไปจากการทำเพื่อบวงสรวงหรืออุทิศบุญกุศลแก่ผู้ล่วงลับแล้ว เข้าใจว่าวัตถุประสงค์ของการปักใบเสมาบนเนินดินคงเกี่ยวข้องกับการเป็นเครื่องหมายของการเป็นเนินดินศักดิ์สิทธิ์ประจำชุมชนด้วย การปักบนเนินดินเหล่านี้มักมีทิศทางไม่สม่ำเสมอ หรือทิศทางที่ไม่แน่นอน ซึ่งไม่ใช่วิธีปักตามพุทธศาสนา อาจเกี่ยวข้องกับประเพณีดั้งเดิมที่เกี่ยวข้องกับการบูชาบรรพบุรุษผู้ล่วงลับก็เป็นได้
กลุ่มใบเสมาที่อยู่ตามบ้านเรื่อนของชาวบ้าน ในบ้านกุดโง้ง อำเภอเมือง จังหวัดชัยภูมิ
ใบเสมากับประเพณีการสร้างหรืออุทิศบุญกุศล
           จากหลักฐานต่างๆ ซึ่งจะกล่าวถึงในลำดับต่อไป ทำให้ทราบได้ว่าใบเสมามีความเกี่ยวขจ้องกับทั้งประเพณีพุทธศาสนาและประเพณีด้านความตาย ความเกี่ยวข้องกับการสร้างสมบุญกุศลของตนเองหรืออุทิศส่วนกุศลและบวงสรวงผู้ล่วงลับ ใบเสมาจึงมีมิติที่ทับซ้อนกันระหว่างประเพณีพุทธศาสนากับประเพณีที่มีความเชื่อเรื่องชีวิตหลังความตายหรือการเซ่นสรวงบูชาวิญญาณบรรพบุรุษ
ใบเสมากับประเพณีการสร้างบุญกุศลในพุทธศาสนา เนื้อหา            จากจากรึกที่พบบนใบเสมาหลายใบแสดงให้เห็นว่าใบเสมาเป็นส่วนหนึ่งของประเพณีการสร้างบุญกุศลในพุทธศาสนา เช่น
จารึกวัดโนนศิลา ๑ อำเภอชุมแพ จังหวัดขอนแก่น มีข้อความว่า นี่คือบุญของชายและหญิง ชื่อ โกนะบุส โกมางทรง โกมางสุพาหุ โกมางเชรง ขอทั้งหมดจงมีชีวิตอยู่ในสมัยพระศรีอาริย์
จารึกวัดโนนศิลา ๒ อำเภอชุมแพ จังหวัดขอนแก่น มีข้อความส่า นี้คือการสร้างเสมา บุญของนะมหายุตทรงคฌะ? โกกุรุง โกปฌาย พรหม โกมาง เสมานี่...
             ผู้ช่วยศาสตราจารย์ดร. รุ่งโรจน์  ธรรมรุ่งเรือง ได้กล่าวถึงลักษณะความเกี่ยวข้องระหว่างใบเสมากับการสร้างบุญกุศลไว้ ๒ ลักษณะ ได้แก่ ใบเสมาเป็นวัตถุของการสร้างบุญกุศล และใบเสมาเป็นพยานหลักฐานแห่งการสร้างสมบุญกุศล
          สำหรับในกรณีแรก ใบเสมาเป็นวัตถุแห่งการสร้างสมบุญกุศลได้แก่ การที่ใบเสมาหลายใบมีภาพสลักเล่าเรื่องพุทธประวัติ ชาดกหรือปูชนียวัตถุในพุทธศาสนาประดับไว้ ใบเสมาเหล่านี้ก็คือสิ่งที่พุทธศาสนิกชนสร้างขึ้นเพื่อหวังในบุญผลกุศลนั่นเอง นอกจากนี้การเป็นเจ้าภาพหรือมีส่วนช่วยทำให้ใบเสมาเพื่อล้อมรอบอุโบสถ ก็น่าจะอยู่ในขอบข่ายวัตถุแห่งการสร้างสมบุญกุศลด้วย
         สำหรับในกรณีที่ ๒ ใบเสมาเป็นพยานหลักฐานแห่งการสร้างสมบุญกุศล ได้แก่ การที่ใบเสมาหลายใบมีขนาดเล็ก ไม่มีภาพสลักเล่าเรื่องใดๆ หรือทำเป็นเพียงเส้นนูนที่กึ่งกลาง หรือทำเป็นรูปเครื่องบวงสรวงบูชา และโดยเฉพาะอย่างย่างคำว่าจารึกว่าเป็นบุญกุศลของผู้ใด ใบเสมาเหล่านี้ส่วนใหญ่มีการตกแต่งมากสุดก็เพียงแต่แนวเส้นนูนที่กึ่งกลางเท่านั้นจึงเกิดข้อสงสัยว่าใบเสมาเหล่านี้ไม่น่าจะเป็นวัตถุแห่งการสร้างสมบุญกุศลไปได้จึงสันนิษฐานว่าใบเสมาบางใบสร้างขึ้นเพื่อเป็นพยานหลักฐานแห่งการสร้างสมบุญกุศลมากกว่าทำหน้าที่เสมือนประกาศหรือบันทึกที่ให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์รับรู้ในบุญกุศลที่ทำลงไป เป็นพยานหลักฐานที่คงอยู่เป็นนิรันดรหรืออย่างน้อยก็อยู่ได้นานกว่าคำอธิษฐานจิต จากนั้นจึงนำไปปักไว้ในเขตศักดิ์สิทธิ์ประจำชุมชนใบเสมาแต่ละใบปักไว้ไม่พร้อมกันเพราะกิจกรรมงานบุญย่อมมีเป็นจำนวนมากจึงเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ใบเสมาในบางบริเวณปักไม่เป็นระเบียบ ไม่มีทิศทางแน่นอน
ใบเสมาเล่าเรื่องพุทธประวัติ จากเมืองฟ้าแดดสงยาง อำเภอกมลาไสย จังหวัดกาฬสินธุ์ ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ขอนแก่น

ใบเสมาตอน ทรงพบพญนาคมุจลินทร์ พบที่เนินดินโรงเรียนฟ้าแดดสงยางวิทยาคม ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ขอนแก่น
                    ใบเสมากับพิธีกรรมหลังความตาย  หลักฐานในการพิจารณาว่าใบเสมาเกี่ยวข้องกับการอุทิศบุญกุศลหรือบวงสรวงบูชาวิญญาณผู้ล่วงลับนั้น ได้แก่การที่ใบเสมาหลายแห่งปักอยู่บนเนินดิน ที่เกี่ยวข้องกับพิธีปลงศพเข้าใจว่าความเชื่อหนึ่งของผู้คนในอดีตคือผู้ตายจะเปลี่ยนสถานภาพและบทบาทไปจากครั้งที่ยังมีชีวิตเช่นกลายเป็นผีที่สามารถให้คุณให้โทษแก่คนที่ยังมีชีวิตได้จึงเกิดลัทธิหรือประเพณีบูชาบรรพบุรุษหรือผู้ตายขึ้น
              ใบเสมาที่ปักอยู่บนเนินดินที่เกี่ยวข้องกับพิธีปลงศพอาจจะไม่ได้เป็นเครื่องบวงสรวงโดยตรงแต่ทำหน้าที่คล้ายใบเสมาที่เป็นหลักฐานของการสร้างสมบุญกุศลแต่เปลี่ยนเป็นใบเสมาที่เป็นหลักฐานอันนิรันดรว่าได้มาบวงสรวงบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์แล้ว อย่างไรก็ตามการบวงสรวงบูชาวิญญาณผู้ตายในฐานะสิ่งศักดิ์สิทธิ์เช่นนี้ ไม่จำเป็นต้องตัดขาดกับประเพณีทางพุทธศาสนาโดยสิ้นเชิง เปรียบได้กับประเพณีศพในปัจจุบันที่เกี่ยวข้องกับพุทธศาสนาตั้งแต่แรกเสียชีวิต ฌาปนกิจ จนถึงการอุทิศส่วนบุญส่วนกุศลที่ต่อผู้ตายจึงอาจตั้งเป็นข้อสังเกตได้ว่าบางครั้งอาจมีประเพณีพุทธศาสนาเช่น การอุทิศส่วนบุญส่วนกุศลต่อผู้ล่วงลับ กระทำการบนเนินดินเหล่านี้ ก็เป็นได้ใบเสมาบนเนินดินนี้จึงเปรียบเหมือนพยานหลักฐานในโอกาสที่ได้มาอุทิศ บุญกุศลนั่นเอง 
        ใบเสมาในฐานะสิ่งสักการบูชา
           รองศาสตราจารย์ศรีศักร  วัลลิโภดม ตั้งข้อสังเกตว่าใบเสมาหลายใบมีขนาดสูงใหญ่น่าจะอยู่ในฐานะสิ่งศักดิ์สิทธิ์สำหรับสักการบูชา ที่สมบูรณ์ในตัวเอง ทำหน้าที่เช่นเดียวกับปูชนียวัตถุสถานอื่นๆในพุทธศาสนา เช่น พระพุทธรูป สถูป เจดีย์เป็นต้น เมื่อพิจารณาจากภาพสลักและตำแหน่งการปักของใบเสมาบางแห่ง ผนวกกับประเพณีการเคลื่อนย้ายใบเสมาไปประดิษฐาน ณ สถานที่ใหม่เพื่อสักการบูชาของคนในปัจจุบันไม่ว่าจะเป็นวัด สถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของชุมชนหรือศาลหลักเมืองทำให้ข้อสังเกต ดังกล่าวมีน้ำหนักเป็นอย่างยิ่ง
          ใบเสมาที่สลักพระพุทธรูปขนาดใหญ่น่าจะอยู่ในฐานะของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เทียบได้กับพระพุทธรูปได้โดยตรงและอาจตั้งคำถามต่อไปได้ว่าภาพเล่าเรื่องพุทธประวัติที่มีพระพุทธเจ้าเป็นประธานก็อาจอยู่ในฐานะของสิ่งศักดิ์สิทธิ์สำหรับสักการบูชาได้เช่นกันจึงทำให้พบใบเสมาที่มีภาพเล่าเรื่องปัก อยู่กึ่งกลางพื้นที่ประหนึ่งว่าเป็นพระพุทธรูปประธาน
          นอกเหนือไปจากการสลักพระพุทธรูปแล้วการสลักธรรมจักรบนใบเสมาก็คงส่งผลให้ใบเสมานั้นนั้นกลายเป็นปูชนียวัตถุการสักการบูชาใบเสมากลุ่มนี้แท้จริงแล้วก็คือการสักการบูชาธรรมจักรอันเป็นสัญลักษณ์ของพระธรรมคำสอนแห่งองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้านั่นเอง๓๐ ผู้สร้างใบเสมาที่สลักปูชนียวัตถุก็คงเพื่อให้เป็นบุญเป็นกุศลเปรียบได้กับการสร้างปูชนียวัตถุสถานอื่นๆในพุทธศาสนา
          นอกจากนี้หากยอมรับว่าใบเสมาเหล่านี้มีความเกี่ยวข้องกับการบูชาผีหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่างๆที่ให้คุณให้โทษได้ก็อาจตั้งคำถามต่อไปว่าใบเสมาอาจถูกสร้างขึ้นเพื่อเป็นตัวแทนของสิ่งศักดิ์สิทธิ์เหล่านั้นด้วย เช่น ผีบรรพบุรุษ พระภูมิเจ้าที่ เป็นต้น
       รูปแบบของใบเสมาทวาราวดีภาคอีสาน
          วัสดุที่ใช้ทำใบเสมาส่วนใหญ่ได้แก่หินทรายศิลาแลงมีให้เห็นได้บ้างใบเสมาแยกย่อยได้หลากหลายรูปแบบแต่หากพิจารณาในภาพรวมสามารถแบ่งรูปทรงใบเสมาออกเป็นสามแบบได้แก่แบบหินธรรมชาติซึ่งไม่ได้ขัดแต่งให้เป็นระเบียบแบบแผนนัก แบบแผ่นแบนซึ่งพบได้แพร่หลายที่สุดและแบบแท่งซึ่งมีตั้งแต่แท่งสี่เหลี่ยมจนถึงหลายเหลี่ยม
ใบเสมาแท่งสี่เหลี่ยม จากอำเภอกุฉินารายณ์ จงวัดกาฬสินธุ์ ณ พิพิธสถานแห่งชาติ ขอนแก่น
                    ใบเสมาส่วนใหญ่ไม่นิยมประดับลวดลายหรือภาพใดใดแต่หลายใบก็มีภาพหรือลวดลายที่สวยงามประดับอยู่โดยใบเสมาแต่ละกลุ่มใบเสมาแต่ละใบมีภาพหรือลวดลายแตกต่างกันออกไปบางแบบพบได้แพร่หลายไปทั่วภาคตะวันออกเฉียงเหนือแต่บางแบบจำกัดเฉพาะในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งเท่านั้นรายละเอียดดังนี้
ใบเสมาสลักเป็นสันนูนอยู่ตรงกลาง ที่บ้านกุดโง้ง อำเภอเมือง จังหวัดชัยภูมิ
การประดับตกแต่งที่พบได้ทั่วไป
              จากการสำรวจใบเสมาในพื้นที่ต่างๆพบว่าภาพหรือลายประดับตกแต่งบนใบเสมาที่พบแพร่หลายไปทั่วได้แก่ภาพหม้อต่อด้วยกรวย ซึ่งเป็นรูปเครื่องบวงสรวงและเส้นนูนภาพผ่านกลางใบเสมา
ภาพหม้อต่อด้วยกรวย หรือภาพเครื่องบวงสรวง
             ภาพสลักรูปหม้อต่อด้วยกรวยมักได้รับคำอธิบายว่าเป็นสถูปที่แบ่งได้เป็น ๒ ส่วน คือ ส่วนล่างเป็นหม้อส่วนบนเป็นกรวยคล้ายยอดพระเจดีย์๓๑ นอกจากนี้ยังมีบางท่านตั้งข้อสังเกตว่าอาจจะหมายถึงหม้อปูรณฆฏะ หรือหม้อน้ำแห่งความอุดมสมบูรณ์อีกด้วย ๓๒ ซึ่งคำอธิบายทั้งสองเป็นที่แพร่หลายและได้รับการยอมรับกันโดยทั่วไป 
ใบเสมาที่สลักเป็นหม้อต่อด้วยกรวย ที่บ้านกุดโง้ง อำเภอเมือง จังหวัดชัยภูมิ
           อย่างไรก็ตามจากการตรวจสอบรูปแบบของหม้อต่อด้วยกรวยบนใบเสมาหลายใบ ทำให้เชื่อว่ารูปดังกล่าวนี้จะน่าจะเป็นการถ่ายทอดรูปเครื่องบวงสรวงบูชาของจริงมาประดับไว้เทียบได้กับกรวยหรือบายศรีที่ใช้ใส่เครื่องเซ่นสังเวยประเภทอาหารคาวหวาน หรือข้าวตอก ดอกไม้ตามพิธีกรรมต่างๆ ในปัจจุบันเพียงแต่คนในสมัยทวารวดีนิยมใช้หม้อเป็นภาชนะบรรจุเครื่องบูชาแต่ปัจจุบันนิยมใช้ทำพานหรือกระทง
       องค์ประกอบโดยละเอียดของภาพสลักกลุ่มนี้แตกต่างกันออกไปในใบเสมาแต่ละใบโดยแยกเป็นกลุ่มสำคัญได้ดังนี้
           ๑. หม้อใบเดียวต่อด้วยกรวย โดยส่วนใหญ่ไม่มีการประดับตกแต่งใดๆ บางใบมีการตกแต่งปากกรวยด้วยลวดลายคล้ายใบไม้ บางใบมีลวดลายประดับตกแต่งที่หม้อหรือกรวยเพิ่มเติมขึ้น ที่น่าสนใจคือใบเสมาแผ่นหนึ่งจากบ้านหนองห้าง อำเภอกุฉินารายณ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ ปัจจุบันอยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ขอนแก่น ทำหม้อมีกรวยครอบด้วยกรวย
           ๒. หม้อซ้อนกันหลายใบต่อด้วยกรวยโดยอาจมีการประดับตกแต่งเพิ่มเติมหรือไม่มีก็ได้ ส่วนภาพหม้อซ้อนชั้นซึ่งควรบรรจุเครื่องเซ่นประเภทอาหาร หรือดอกไม้บูชาไว้ภายในเช่นกันต่อด้วยกรวยแหลมปิดปากหม้อเทียบได้กับบายศรีต้นหรือบายศรีใหญ่ในปัจจุบัน 
            จุดแตกต่างหลักมีเพียงในสังคมไทยในปัจจุบันคุ้นเคยกับการนำเครื่องเซ่นใส่กระทงหรือชามแล้วครอบด้วยกรวย ในขณะที่สังคมทวารวดีนำเครื่องเซ่นใส่ไว้ในหม้อแล้วครอบด้วยกรวยคงเป็นแบบแผนที่สืบเนื่องจากการนำเครื่องเซ่นสังเวยบรรจุในหม้อ ตามที่พบในหลุมฝังศพสมัยก่อนประวัติศาสตร์และเห็นได้ในวัฒนธรรมอินเดีย ที่มีมาแต่อดีตซึ่งยังคงทำสืบกันมาจนปัจจุบัน โดยในวัฒนธรรมอินเดียอาจมีความเกี่ยวข้องกับการเป็นสัญลักษณ์มงคลเพื่อใช้ในงานพิธีเพิ่มเติมด้วย
ใบเสมาสลักรูปหม้อเหยือกต่อด้วยกรวย ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ขอนแก่น
           การประดับตกแต่งแบบพิเศษของแต่ละพื้นที่
           ใบเสมาในแต่ละพื้นที่มีการประดับตกแต่งที่แตกต่างกันออกไป เป็นที่น่าสงสัยว่าความแตกต่างดังกล่าวอาจจะสะท้อนให้เห็นถึงขอบเขตทางวัฒนธรรมย่อยที่แตกต่างกัน อันอาจสะท้อนต่อไปว่า เมืองในวัฒนธรรมทวารวดีภาคตะวันออกเฉียงเหนืออาจมีศูนย์กลางทางวัฒนธรรมมากกว่าหนึ่งเมือง
           หากแบ่งภาคตะวันออกเฉียงเหนือตามลุ่มน้ำ คือลุ่มน้ำมูล ลุ่มน้ำชี และลุ่มน้ำโขงจะพบว่าใบเสมาแต่ละลุ่มน้ำมีลักษณะพิเศษที่แตกต่างกันออกไปโดยแต่ละลุ่มน้ำมีรูปแบบหลักที่น่าสนใจดังนี้
            ใบเสมาลุ่มน้ำมูล พื้นที่ลุ่มน้ำมูลคือจังหวัดนครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ และพื้นที่ตอนล่างของอุบลราชธานีค้นพบใบเสมาได้น้อยกว่าพื้นที่อื่นๆของภาคอีสาน ทั้งนี้คงเป็นเพราะบริเวณนี้มีความใกล้ชิดกับการเมืองการปกครองและวัฒนธรรมจากประเทศกัมพูชามากกว่ารูปแบบการประดับตกแต่งที่พบได้มากที่สุดเป็นเช่นเดียวกันกับพื้นที่อื่นๆของภาคอีสานคือการทำเส้นนูนพาดผ่านกลางใบเสมาหรือทำหม้อต่อด้วยกรวยยาว 
            ส่วนรูปแบบการประดับตกแต่งที่เป็นพิเศษอันแตกต่างไปจากพื้นที่อื่นจนกล่าวได้ว่าเป็นลักษณะเฉพาะของพื้นที่มีตัวอย่างไม่มากนัก หนึ่งในนั้นได้แก่ใบเสมาบนยอดภูพระอังคารอำเภอนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์ ซึ่งทำประติมากรรมบุคคล ๑ คน  ในอิริยาบถยืนประดับบนใบเสมาอย่างเต็มพื้นที่พระพักตร์เป็นส่วนที่ได้รับการบูรณะขึ้นใหม่ ส่วนพระองค์เป็นของดั้งเดิม สวมผ้านุ่งที่ละม้ายกับภาพสลักประติมากรรมบุคคลบนใบเสมาทวารวดีอื่นๆที่มีผ้าพับปลายขนาดใหญ่จนดูคล้ายถุงเป็นองค์ประกอบสำคัญ
              ใบเสมาลุ่มน้ำชีพื้นที่ลุ่มน้ำชี ตั้งแต่จังหวัดชัยภูมิ ขอนแก่นมหาสารคาม กาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด จนถึงบริเวณคาบเกี่ยวกับลุ่มน้ำมูลตอนปลาย คือจังหวัดยโสธรและอำนาจเจริญเป็นพื้นที่ที่ค้นพบใบเสมาได้หนาแน่นมาก  สำหรับการประดับตกแต่งแบบพิเศษของใบเสมา ลุ่มน้ำชีคือภาพเล่าเรื่องในพุทธประวัติและชาดกแบบเต็มแผ่น เมืองสำคัญที่ค้นพบใบเสมาสลักภาพเล่าเรื่องเช่นนี้จำนวนมากที่สุดคือเมืองฟ้าแดดสงยาง อำเภอกมลาไสย จังหวัดกาฬสินธุ์ รูปแบบทำนองเดียวกันนี้ได้ค้นพบในจังหวัดอื่นๆในเขตลุ่มน้ำชีด้วย เช่น ใบเสมาที่บ้านกุดโง้ง  อำเภอเมือง  จังหวัดชัยภูมิ ใบเสมาที่บ้านคอนสวรรค์ อำเภอคอนสวรรค์ จังหวัดชัยภูมิ ทั้งสองแห่งเป็นตัวอย่างที่ดีของใบเสมาสลักภาพเล่าเรื่องเต็มแผ่นของลุ่มน้ำชีตอนต้น ใบเสมามาจากวัดบึงขุมเงิน อำเภอเมือง จังหวัดยโสธร ซึ่งเป็นตัวอย่างที่ดีของใบเสมาสลักภาพเล่าเรื่องเต็มแผ่นของลุ่มน้ำชีตอนปลาย
ใบเสมาสลักเรื่องราวชาดกที่บ้านกุดโง้ง อำเภอเมือง จังหวัดชัยภูมิ
บเสมา ที่มีภาพสลักเล่าเรื่องในพุทธศาสนาเต็มแผ่นเป็นรูปแบบที่พบได้ทั่วไปในพื้นที่ลุ่มน้ำชีแต่ขณะเดียวกันก็พบว่าลวดลายสลักบางแบบนิยมเฉพาะพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งของลุ่มน้ำชีเท่านั้น เช่นการทำลวดลายกระหนกวงโค้ง หรือทำขอบนอกของใบเสมาเป็นวงโค้งต่อเนื่องนิยมในบริเวณต้นลุ่มน้ำชี มีตัวอย่างที่บ้านพันลำ ตำบลสระโพนทอง อำเภอเกษตรสมบูรณ์ จังหวัดชัยภูมิ เมืองชัยวาน ตำบลโพธิ์ชัย อำเภอโคกโพธิ์ชัย จังหวัดขอนแก่นเป็นรูปแบบที่คล้ายคลึงกันกับใบเสมาในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พิมาย ซึ่งนายอำเภอโนนสูงจังหวัดนครราชสีมามอบให้
           นอกจากนี้ การสลักกลีบบัวซ้อนหลายชั้นก็นับได้ว่าเป็นลวดลายพิเศษที่พบมากในเขตจังหวัดชัยภูมิตัวอย่างเช่นใบเสมาที่บ้านกุดโง้ง อำเภอเมือง ใบเสมาที่บ้านพันลำ อำเภอเกษตรสมบูรณ์
การสลักใบเสมากลีบบัวซ้อนที่บ้านกุดโง้ง
                 สำหรับภาพสลักแบบพิเศษอันเป็นที่แพร่หลายในพื้นที่ปลายลุ่มน้ำชี จังหวัดยโสธร อำนาจเจริญ และตอนบนของอุบลราชธานี ซึ่งเป็นพื้นที่ต่อเนื่องไปยังลุ่มน้ำมูลตอนปลาย ได้แก่ ภาพธรรมจักร แมวว่าไปเสมาสลักภาพธรรมจักรจะมีการค้นพบในพื้นที่อื่นๆแต่พื้นที่นี้พบได้หนาแน่นกว่าพื้นที่อื่นอย่างเห็นได้ชัดเช่น วัดสุปัฏนาราม อำเภอเมืองจังหวัดอุบลราชธานี วัดโพธิ์ศรีมงคล บ้านตาดทอง อำเภอเมือง จังหวัดยโสธร  วัดบึงคุ้มเงิน อำเภอเมืองจังหวัดยโสธร วัดดงเฒ่าเก่า บ้านหนองเรือ ตำบลนาหนองม้า อำเภอเมือง จังหวัดอำนาจเจริญ วัดโพธิ์ศรี บ้านเปลือยหัวดง ตำบลเปลือยอำเภอลืออำนาจจังหวัดอำนาจเจริญ
           เป็นที่น่าสังเกตว่าเสาธรรมจักรมักรองรับด้วยหม้อลำตัวเสามักมีขนาดใหญ่และสอบเล็กลงที่ส่วนปลายเป็นรูปแบบที่ทำให้นึกถึงภาพเครื่องบวงสรวง ประเภทหม้อใบเดียวต่อด้วยกรวยยาวเป็นอย่างยิ่ง   จนอาจกล่าวได้ว่าทั้งสองมีองค์ประกอบภาพเดียวกัน เพียงแต่เพิ่มธรรมจักรเข้ามาเท่านั้นเอง
            นอกจากนี้ตำแหน่งของธรรมจักร วงกลมยังมีทางที่วางอยู่บนสุดของเสาหรือวางอยู่กลางค่อนไปทางด้านบนของเสาด้วย ซึ่งแตกต่างไปจากวัฒนธรรมทวารวดีภาคกลาง ที่ทำธรรมจักรไว้ที่ยอดเสาเท่านั้น
            ใบเสมาลุ่มน้ำโขง ลุ่มน้ำโขงในความหมายนี้มีพื้นที่ครอบคลุมจังหวัดเลย อุดรธานี หนองคายบึงกาฬ สกลนคร มุกดาหาร ลักษณะเด่นของลวดลายหรือภาพบนใบเสมาบริเวณลุ่มน้ำโขงซึ่งแตกต่างไปจากลุ่มน้ำอื่นอย่างชัดเจนที่สุด ได้แก่อิทธิพลจากศิลปะเขมรสมัยเมืองพระนคร แม้ว่าการปะปนกับศิลปะเขมรจะพบได้ในลุ่มน้ำอื่นๆแต่ใบเสมาจากพื้นที่นี้พบการปะปนผสมผสานกับศิลปะเขมรได้หนาแน่นมาก
         ภาพบุคคลแต่งกายตามแบบศิลปะเขมรยังปรากฏบนใบเสมาจากอำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี เช่นบริเวณบวชพระปู่ใกล้พระพุทธบาทบัวบานและวัดโนนศิลาอาสน์นักวิชาการบางท่านเสนอว่าภาพบุคคลบนใบเสมากลุ่มนี้แต่งกายคล้ายประติมากรรมในศิลปะเกราะแกร์ อย่างไรก็ตามใบเสมาบางใบกลับมีลักษณะผ้านุ่งที่ใกล้เคียงกับศิลปะนครวัดมากกว่าเพราะใช้ผ้าที่พับย้อนออกมาเป็นวงโค้งบริเวณอุทรมีเพียงฟากเดียวเทียบได้กับชายผ้าของประติมากรรมที่ปราสาทพิมาย ศิลปะนครวัด
            เป็นที่น่าสังเกตด้วยว่าภาพสลักบนใบเสมาที่วัดโนนศิลาอาสน์และบวชพระปู่ประดับเฉพาะบริเวณโคนเท่านั้นมิได้ประดับเต็มแผ่นเช่นเดียวกับลุ่มน้ำชีนอกจากนี้หลายใบมีความสูงมากกว่า ๓ เมตรจนกล่าวได้ว่าเป็นกลุ่มใบเสมาที่มีความสูงกว่าพื้นที่อื่นๆ
          จากข้อมูลทั้งหมดที่ได้นำมาเสนอกล่าวได้ว่าใบเสมาทวารวดีอีสานเป็นเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมของชุมชนโบราณในภาคอีสาน โดยใบเสมาของแต่ละพื้นที่รูปแบบก็จะแตกต่างกันไป อันแสดงให้เห็นว่าใบเสมาทวารวดีอีสานมีความหลากหลาย หากแต่ไม่ได้สร้างขึ้นจากคติความเชื่อทางพุทธศาสนาอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังคงมีความสัมพันธ์กับความเชื่อดั้งเดิมของแต่ละท้องถิ่น อีกด้วย




อ้างอิงหลักจากหนังสือ
           รุ่งโรจน์  ธรรมรุ่งเรือง.  ทวารวดีในอีสาน.กรุงเทพมหานคร : มติชน, ๒๕๕๘
           วชิราภรณ์  ไชยชาติ.  นำชมใบเสมาพิพิธภณฑสถานแห่งชาติ ขอนแก่น.กรุงเทพมหานคร : อรุณการพิมพ์, ๒๕๕๒

 อ้างอิงจากในหนังสือ 
ศรีศักร วัลลิโภดม, “เสมาหินอิสาน การสำรวจและศึกษาการสืบเนื่องของประเพณีหินตั้งในสังคมภาคตะวันออกเฉียงเหนือ,”เมืองโบราณ ๑๑,๔ (ตุลาคม-ธันวาคม ๒๕๒๘) : ๖,๗
ศรีศักร วัลลิโภดม, “เสมาอิสาน,”เมืองโบราณ ๑,๒(มกราคม-มีนาคม ๒๕๑๘) : ๑๑๒
           กรมศิลปากร,”จารึกสถาปนาสีมา”ใน จารึกประเทศไทย เล่ม ๑ อักษรปัลลวะ หลังปัลลวะ พุทธศตวรรษที่ ๑๒-๑๔(กรุงเทพฯ : กรมศิลปากร,๒๕๒๙),น.๒๗o-๒๘๓
           ชะเอม แก้วคลาย,”จารึกบ้านกู่จาน หลักฐานพุทธศาสนามหายานในพุทธศตวรรษที่ ๑๒,”ศิลปากร ๔๒,๔ (กรกฎคม-สิงหาคม ๒๕๔๒) : ๙๓.
พระวินัยปิฎก เล่ม ๔ มหาวรรค ภาค ๑  และอรรถกถา (กรุงเทพฯ : มหามงกุฎราชวิทยาลัย, ๒๕๒๕), น. ๔๑o-๔๑๑
ทั้งนี้ไม่ควรลืมว่าจำนวนนิมิตที่บอกเขตขัณฑสีมาหรือมหาสีมาต้องมี ๓ นิมิตเป็นขั้นต่ำ เพราะสามารถชักเป็นแนวล้อมรอบได้ ขั้นสูงไม่กำหนด ดังนั้นในทางปฏิบัติจำนวนนิมิตของขัณฑสีมากับมหาสีมาอาจไม่เท่ากันก็ได้ และไม่จำเป็นต้องตั้งในแนวตรงกันเสมอไป
พระวินัยปิฎก เล่ม ๔ มหาวรรค ภาค ๑  และอรรถกถา (กรุงเทพฯ : มหามงกุฏราชวิทยาลัย, ๒๕๒๕), น. ๔๑o-๔๑๑
วชิราภรณ์ ไชยชาติ, นำชมใบเสมาในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ขอนแก่น, น.๓๒-๓๓.
ผาสุข อิทราวุธ, รายงานการขุดค้นเมืองฟ้าแดดสงยาง อำเภอกลมลาไสย จังหวัดกาฬสินธุ์ (นครปฐม : สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยศิลปากร, ๒๕๔๔), น.๑๔-๑๖.
สุรพล ดำริห์กุล, แผ่นดินอิสาน (กรุงเทพฯ : เมืองโบราณ, ๒๕๔๙),น. ๔o-๔๕.
ศรีศักร วัลลิโภดม, “เสมาหินอิสาน การสำรวจและศึกษาการสืบเนื่องของประเพณีหินตั้งในสังคมภาคตะวันออกเฉียงเหนือ,”เมืองโบราณ ๑๑,๔ (ตุลาคม-ธันวาคม ๒๕๒๘) : ๑๗
อุไรศรี วรศะริน, “จารึกภาษามอญบางหลักในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ”ใน ดินแดนไทยจากยุคประวัติศาสตร์ตอนต้นจนถึงคริสต์ศตวรรษที่ ๑๕ (กรุงเทพฯ :  มหาวิทยาลัยศิลปากร ,เอกสารประกอบการประชุมวิชาการระดับชาติฝรั่งเศส-ไทย ครั้งที่ ๑, ๒๕๓๑), น.๕o๗. อย่างไรก็ตาม ทิม มีเต็ม และจำปา เยื้องเจริญ อ่านและแปลแตกต่างกันออกไปเล็กน้อย ดังนี้ “ระโว (พร้อมด้วย) ชานมะระนามกับสมุส (อุทิศ) บุญนี้ห้แก่ชายทะรง ชายสุพาหุ ชายมะรัง ขอบุญนี้ (จง) นำส่งให้ไปทันต่อพระพุทธอารยะเมตตรัย เทอญ” ดูใน กรมศิลปากร, “จารึกใบเสมาวัดโนนศิลา ๑”ใน จารึกประเทศไทย เล่ม ๒ (กรุงเทพฯ กรมศิลปากร, ๒๕๒๙), น.๖๗-๗๒.
อุไรศรี วรศะริน, “จารึกภาษามอญบางหลักในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ”ใน ดินแดนไทยจากยุคประวัติศาสตร์ตอนต้นจนถึงคริสต์ศตวรรษที่ ๑๕ (กรุงเทพฯ :  มหาวิทยาลัยศิลปากร ,เอกสารประกอบการประชุมวิชาการระดับชาติฝรั่งเศส-ไทย ครั้งที่ ๑, ๒๕๓๑), น.๕o๘. อย่างไรก็ตาม ทิม มีเต็ม และจำปา เยื้องเจริญ อ่านและแปลแตกต่างกันออกไปเล็กน้อย ดังนี้ “พราหมณ์มหายุตขอ (อุทิศ) ผลกรรม (แห่ง) บุญนี้ (ให้) แก่ระสา ผู้เป็นเชื้อสายของพรหมกับชาย...ผู้เป็นญาติ”ดูใน กรมศิลปากร, “จารึกใบเสมาวัดโนนศิลา ๒”ใน จารึกประเทศไทย เล่ม ๒ (กรุงเทพฯ กรมศิลปากร, ๒๕๒๙), น.๗๓-๗๖.
อุไรศรี วรศะริน, “จารึกภาษามอญบางหลักในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ”ใน ดินแดนไทยจากยุคประวัติศาสตร์ตอนต้นจนถึงคริสต์ศตวรรษที่ ๑๕ (กรุงเทพฯ :  มหาวิทยาลัยศิลปากร ,เอกสารประกอบการประชุมวิชาการระดับชาติฝรั่งเศส-ไทย ครั้งที่ ๑, ๒๕๓๑), น.๕o๙.
ก่องแก้ว วีระประจักษ์, “จารึกใบเสมาบ้านพันนา,” ศิลปากร ๕o,๒ (มีนาคม-เมษายน ๒๕๕o) : ๕๗.
เกี่ยวกับภาพสลักบนใบเสมาเครื่องบวงสรวงบูชาดูรายละเอียดได้ในหัวข้อ “เครื่องบวงสรวงบูชา”ในบทที่ ๓ พุทธศาสนาแบบทวารวดีภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
ทั้งนี้ข้อความในอดีตอาจมีมากกว่านี้ แต่ปัจจุบันลบเลือนจนไม่เห็นหรืออ่านไม่ได้แล้ว
ปรานี วงษ์เทศ,พิธีกรรมเกี่ยวกับการตายในประเทศไทย (กรุงเทพฯ :  มหาวิทยาลัยศิลปากร ,๒๕๓๔), น.๕-๖.
รุ่งโรจน์ ธรรมรุ่งเรือง, “เครื่องบวงสรวงบนใบเสมาทวารวดีอิสาน : พุทธบูชาและบูชาผี,” ศิลปากร ๕๒,๔ (กรกฎาคม-สิงหาคม ๒๕๕๒) : ๕๑-๖๓.
ศรีศักร วัลลิโภดม, “เสมาอิสาน,”เมืองโบราณ ๑,๒ (มกราคม-มีนาคม ๒๕๑๘) : ๑๑๒.
ดูตัวอย่างงานที่อธิบายภาพสลักหม้อน้ำมีกรวยแหลมว่าเป็นสถูปได้ใน ศรีศักร วัลลิโภดม, เสมาอิสาน,”เมืองโบราณ ๒,๒ (มกราคม-มีนาคม ๒๕๑๘) : ๙o.
อ่านรายละเอียดเกี่ยวกับแนวความคิดว่าภาพสลักหม้อน้ำต่อด้วยกรวยเป็นภาพเครื่องบวงสรวงบูชาได้ใน รุ่งโรจน์ ธรรมรุ่งเรือง, “เครื่องบวงสรวงบนใบเสมาทวารวดีอิสาน : พุทธบูชาและบูชาผี,” ศิลปากร ๕๒,๔ (กรกฎาคม-สิงหาคม ๒๕๕๒) : ๕o-๖๓.
หม่อมราชวงศ์สุริยวุฒิ สุขสวัสดิ์, “ใบเสมาสลักเรื่องรามายณะ การเปลี่ยนแปลงคติและรูปแบบจากศิลปทวารวดีสู่ศิลปะแบบเขมรในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ,” เมืองโบราณ ๑๗,๑ (มกราคม-มีนาคม ๒๕๓๔) : o๕-๑๑o. และรุงโรจน์ ภิรมย์อนุกูล, “ใบเสมาเรื่องศิพิชาดก ร่องรอยพุทธศาสนามหายานในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน,” เมืองโบราณ ๒๘,๓ (กรกฎาคม-กันยายน ๒๕๔๕) :o๒-๑o๗.